6 พยาน อัยการ-ตำรวจอ้างเป็นเหตุกลับคำไม่ฟ้อง 'บอส วรยุทธ'
นักข่าวหัวเห็ด 29 ก.ค. 2563 00:48 0 ข่าวกรณี 'บอส วรยุทธ อยู่วิทยา' ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจไม่เห็นแย้ง ทำให้คดีที่เหลืออยู่ข้อหาเดียว ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จบลงไป ก่อนที่ข้อหานี้จะหมดอายุความ ท่ามกลางข้อสงสัยของสังคม ที่ตั้งคำถามถึงกระบรวนการยุติธรรมของประเทศไทย
อัยการสูงสุด คุณวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ มีคำสั่งตั้งคณะทำงาน 7 นาย ตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี บอส วรยุทธ อยู่วิทยา ของสำนักงานอัยการคดีพิเศษอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง และมีเหตุผลแท้จริงในการพิจารณาสั่งคดี โดยคณะทำงานมีอำนาจเรียกสำนวนมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้ดำเนินการโดยด่วนที่สุด มอบหมายให้ รองอัยการสูงสุด คุณสมศักดิ์ ติยะวานิช เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
โดยคณะทำงานมีองค์ประกอบดังนี้
1.นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด - หัวหน้าคณะทำงานตำเเหน่ง
2.นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาเป็น - คณะทำงาน
3.นายชาติพงศ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร - คณะทำงาน
4.นายปรเมศว์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี - คณะทำงาน
5.นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา - คณะทำงาน
6.นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา - คณะทำงานและเลขานุการ
7.นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 - คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ
ด้านรองโฆษกอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานทุกคนรับทราบคำสั่งแล้ว และเร่งประสาน พร้อมประชุมในวันนี้ 28 ก.ค.63 ช่วงบ่าย โดยคณะทำงานมีอำนาจเรียกสำนวนมาตรวจสอบ รวมถึงสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินการโดยด่วนที่สุด
ขณะที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยยะจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อท็จจริง ขีดเส้น 15 วันรู้ผล มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. เป็นประธาน พร้อมคณะกรรมการ รวม 10 นาย
นอกจากนี้ยังมีการเปิดรายชื่อ กมธ.กฎหมาย สภาฯ สนช. ที่ทำคดี บอส วรยุทธ โดยชื่อประธานในสมัยนั้น คือ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภาฯ โดยผู้สื่อข่าวสอบถามไปว่า มีการขอประวิงเวลาคดีนี้ มาที่คณะ กมธ.กฎหมาย สภาฯ สนช. สมัยนั้น จริงหรือไม่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร บอกว่า ถ้าไม่วันที่ 29 หรือ 30 ก.ค.นี้ จะให้ นายธานี อ่อนละเอียด ในฐานะอดีต กมธ.เป็นผู้แถลงรายละเอียด
6 พยาน อัยการ-ตำรวจอ้างเป็นเหตุกลับคำไม่ฟ้อง
ขณะเดียวกัน หลังมีการเปิดเผยสำนวนลับ มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเร็วรถ หลังผู้เชี่ยวชาญคนแรกที่เป็นตำรวจยศพันตำรวจตรี ให้ความเห็นไว้ว่านายบอส ขับรถเร็วประมาณ 177 กม./ชม. แต่เวลาผ่านมา 7 ปี บอกคำนวณใหม่ ความเร็วรถเหลือ 79.23 กม./ชม.
นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญความเร็วรถท่านอื่น คือ พันตำรวจโท ก. และ พันตำรวจโท ข. (นามสมมุติ) ออกมาบอกว่า ความเร็วรถไม่เกิน 80 กม./ชม. อย่างแน่นอน เปรียบเทียบความเสียหายของรถกับคดีอื่นๆ และมีนักวิชาการอีก 1 ท่าน รศ.ดร. ส (นามสมมุติ) บอกว่า ความเร็วรถก่อนเกิดเหตุอยู่ที่ 76.175 กม./ชม.
ประกอบกับพยานใหม่ อีก 2 ปาก อ้างอิงว่าขับรถตามหลังมา โดยคนหนึ่งเป็น พลอากาศโท จ. และอีกคน คือ นาย ช. (นามสมมุติ) ให้การว่า ขับรถตามหลังมาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กม./ชม. รถ จยย.ของดาบวิเชียรมาในเลนซ้ายสุด และเปลี่ยนเลนกระทันหัน จน นาย ช.ต้องเปลี่ยนมาเลนซ้ายสุด และดาบวิเชียรก็ไปต่อในเลนขวาสุด ทำให้รถของนายบอส ที่วิ่งมาด้วยความเร็ว 50-60 กม./ชม. เบรกไม่ทัน จึงชนเข้าไปอย่างจัง
อดีต ตร.ทำคดี ‘บอส อยู่วิทยา ’ ตั้งข้อสงสัยทำไม ‘อัยการ’ เชื่อพยานใหม่ จี้พิสูจน์ภาพวงจรปิดก่อนจุดเกิดเหตุ พยานขับรถตามหลังมาจริงหรือไม่
พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเคยทำคดีนี้เมื่อปี 2555 ตอนนั้นมียศเป็น ร.ต.อ. เปิดเผยหลังเห็นสำนวนที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายบอส ฉบับเต็ม ยืนยันว่าช่วงที่ทำคดีระดับความเร็วของรถเฟอร์รารี่ที่ปรากฏ อยู่ที่ประมาณ 177 กม./ชม. และพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องไปให้ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้าน ตรวจสอบคำนวณทางฟิสิกส์ และตรวจ DNA ของ รพ.ตำรวจ และ รพ.รามา หลักฐานสำคัญคือกล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพรถเฟอร์รารี่ของนายบอส ขับมาด้วยความเร็ว
พ.ต.ต.ชวลิต ระบุว่า ผลความเร็วออกไม่เกิน 1 เดือน แต่เวลายืดยาวไปถึงปี 2559 ปรากฏว่ามีการเพิ่มเติมอีกหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่อ้างว่าอัตราเร็วไม่ถึง 100 หรือ 80 นั้น ก็ต้องกลับไปดูว่า พยานใหม่ 2 ราย ที่ให้ความเห็นเข้ามาในสำนาน เขาคือใคร เขาใช้วิธีการอย่างไรในการระบุอัตราเร็วนั้นก็ต้องมาเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักกัน
ในส่วนของรูปคดีที่ว่าการพุ่งชนเป็นการพุ่งชนจากด้านหลัง ขณะที่สำนวนใหม่ระบุว่าเป็นการตัดหน้านั้น จากรายงานกองพิสูจน์หลักฐานในส่วนที่ตนทำนั้น พบร่องรอยซึ่งบ่งบอกลักษณะเฉี่ยวชนอย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่โชคดีเพราะมีนักข่าวไปถ่ายภาพตอนเอารถมาเปรียบเทียบกัน ก็คือการชนกันตรง ๆ ลักษณะรอยกระแทกรถจักรยานยนต์ การบุบยุบของฝากระโปรงหน้ารถ รอยขรูดถลอก มันสามารถบ่งบอกตำแหน่งและทิศทางการชนได้